วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2555

ตำนานอุรังคนิทาน หรือตำนานอุรังคธาตุ

กล่าวถึงความร่วมมือของพระยาทั้ง 5 เมือง ได้แก่ พระยาสุวรรณภิงคาร เมืองหนองหานหลวง พระยาจุลนีพรหมทัต เมืองแกวสิบสองจุไท พระยาคำแดง เมืองหนองหานน้อย พระยาอินทปัต เมืองเขมร และพระยานันทเสน เมืองศรีโคตรบูรที่มาช่วยกันสร้างองค์พระธาตุพนมแห่งนี้ขึ้นมา แท้ที่จริงแล้วแสดงถึงการเป็นตำนานซึ่งเขียนขึ้นภายหลัง ซึ่งได้กำหนดเอาศาสนสถานใน คติพราหมณ์ - ฮินดูโบราณของวัฒนธรรมจามหรือขอมมาแต่เดิม โดยปรับเปลี่ยนมาเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาเถรวาทด้วยลักษณะของพระธาตุเจดีย์ อันเป็นแบบหรือรูปทรงของพระธาตุพนมในราวพุทธศตวรรษที่ 21 ที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมแถบลุ่มแม่น้ำโขง จะเห็นได้ว่า ตำนานให้ภาพความสัมพันธ์ของผู้นำจากดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโขงทั้ง 5 เมือง ซึ่งสองเมืองฝั่งขวาของแม่น้ำโขงก็คือ เมืองหนองหานน้อยกับเมืองหนองหานหลวงเป็นพื้นที่บริเวณอุดรธานีและสกลนคร ส่วนอีกสามเมืองนั้นประกอบด้วยเมืองแกวสิบสองจุไทในดินแดนเวียดนาม เมืองศรีโคตรบูรหรือมรุกขนครในดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และเมืองอินทปัตในดินแดนเขมร โดยล้วนแสดงถึงการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์เหนือดินแดนพุทธศาสนา อันมีการกำหนดให้พระธาตุพนมประดิษฐาน อยู่ ณ ภูกำพร้า ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางระหว่างรอยต่อระหว่างวัฒนธรรมและดินแดนต่างๆ ลุ่มแม่น้ำโขงเหล่านั้น ซึ่งผู้เขียนตำนานสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ของท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกันอย่างน่าสนใจ ทำให้เกิดเป็นภาพความสัมพันธ์ของสังคมวัฒนธรรมขนาดใหญ่ครอบคลุมภูมิภาคกว้าง ไกลในบริเวณลุ่มแม่น้ำ จากเรื่องอุรังคธาตุ ประชาชนในอาณาจักรจะมีส่วนร่วมในการสร้างอุรังคธาตุ ซึ่งในช่วงนั้นจะประกอบไปด้วยนครรัฐต่างๆ ซึ่งจะขอยกตัวอย่างบางนครรัฐ ซึ่งอยู่ในภาคอีสานเพื่อให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ในสมัยอดีตของเมืองต่างๆ ในภาคอีสาน นครหนองหารหลวง อยู่บริเวณหนองหารสกลนคร มีพระยาสุวรรณคิงคารเป็นผู้ครองนคร ได้สร้างพระธาตุเชิงชุมสวมรอยพระพุทธบาทและพระมเหสีนามว่าพระณารายณ์เจงเวง ได้สร้างพระกุดนาเวงบรรจุพระอังคารนครหนองหารน้อย ตั้งอยู่ถัดจากหนองหารหลวงไป ได้แก่ หนองหารกุมภวาปีที่พระยาดำแดง เป็นลูกพี่ลูกน้องกับผู้ครองหนองหารหลวง ทั้งสองนครนี้ได้ต้อนรับขบวนนำพระบรมธาตุมาครั้งแรก และได้ร่วมก่อสร้างจนสำเร็จ ต่อมาเกิดน้ำท่วมใหญ่จนหนองหารทั้งสองลัดถึงกันประชาชนอพยพไปอยู่ที่ เวียงจันทน์ นครศรีโคตรบูรณ์ เป็นแคว้นที่ประดิษฐ์พระอุรังคธาตุ เดิมตั้งอยู่ใต้ปากเซ บั้งไฟซึ่งไหลตกแม่น้ำโขงตรงข้ามพระธาตุพนม ครั้งพระเจ้าศรีโคตรบูรณ์ล่วงลับไปแล้ว พระยานับแสน พระอนุชาขึ้นครองนครแทน ต่อมาเป็นเวลา 13 ปี พระองค์ได้ร่วมสร้างพระอุรังคธาตุครั้งแรก เมื่อทิวงคต แล้วมีการย้ายนครไปตั้งอยู่ทางเหนือพระธาตุชื่อมรุกขนคร นครสาเกตุ หรือ 101 ประตู (สิบเอ็ดประตู) อยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด มีพระยาสุริวงศาครอง ครั้งทิวงคต บ้านเมืองแตกสลายประชากรอพยพไปอยู่ทางจังหวัดหนองคาย มีคำกลอนโบราณบทหนึ่งว่า “เมืองสิบเอ็ดผักตู สิบแปดป่องเอี้ยม ซาวเก้าแม่ขั้นได” ทั้งนี้ก็เพราะว่าได้มีการก่อสร้างวิหารหลังสูง 6 ชั้น ชั้นที่กลางเมือง คือ กลางบึงพลาญชัย ให้มีบันได ถึง 29 ขั้น มีหน้าต่าง 18 ช่อง มีประตู 11 ช่อง ตำนานผาแดงนางไอ่ ตอนหนึ่งว่า บึงพลาญชัยนี้ มีบั้งไฟขนาดใหญ่ของพระยา ขอมตกลงมากลายเป็นบึงขนาดใหญ่ ในสมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมกราชนั้น มีเมืองขึ้นอยู่สิบเอ็ดเมือง มีทางเข้าสิบเอ็ดประตูด้วย โดยถือเป็นสัญลักษณ์พิเศษแห่งเมืองนี้

ประเพณีหนึ่งที่ชาวลุ่มแม่น้ำโขงถือเป็นภารกิจที่ทุกคนจะต้อง เข้าร่วมพิธีคือ ประเพณีนมัสการองค์พระธาตุพนมในวันเพ็ญเดือนสาม พระธาตุพนมเป็นสิ่งศักดิ์และเป็นของคู่บ้านคู่เมือง เป็นมิ่งขวัญของชาวตะวันออกเฉียงเหนือ และของชาวลุ่มแม่น้ำโขงทุกคน พระธาตุพนม ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม ตามตำนานกล่าวว่าสร้างมานาน ไม่น้อยกว่า 2,300 ปี ในฤดูเทศกาลวันเพ็ญ เดือน 3 ของทุกปี พุทธศาสนิกชนจะหลั่งไหล มาจากทุกสารทิศจำนวนเป็นแสน ๆ คนพากันมาสมโภชและนมัสการพระธาตุพนม งานนมัสการพระธาตุประจำปีถือเอวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี เป็นวันแรกของงานไปสิ้นสุดเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3

ความเชื่อถือแต่โบราณ

ในสมัยโบราณ บรรดาชาวพุทธในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย และในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีความเชื่อถือสืบต่อกันมาว่า ถ้าใครมีโอกาสได้เดินทางไปไหว้พระธาตุพนมอันศักดิ์สิทธิ์ ทำบุญทำกุศล ถวายเครื่องสักการบูชา บริจาคทรัพย์สวดมนต์ ท่องบทสาธยายคัมภีร์พระธรรมและเจริญเมตตา ภาวนาเฉพาะหน้าองค์พระธาตุพนมจิตใจจะสงบเยือกเย็นอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ถ้ายังไม่บรรลุพระนิพพานในชาตินี้เมื่อตายแล้ววิญญาณก็จะไปสู่สววรค์ เพราะฉะนั้นด้วยพลังของความเชื่อดังกล่าวนี้ได้ผลักดันให้แต่ละคนให้พยายาม ขวนขวายหาเพื่อบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ เท่าที่สามารถจะทำได้ พวกชาวพุทธในถิ่นนี้ถือกันว่าองค์พระธาตุพนมไม่เพียงแต่จะเป็นเจดีย์ ที่บรรจุพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้าเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งยังดำรงพระชนม์อยู่ได้เสด็จมาประทับแรมอยู่หนึ่งราตรี ซึ่งเรื่องนี้ได้กล่าวไว้ในตำนาน พระธาตุพนม

สถานที่ประสูติของเราตถาคต

สถานที่ตรัสรู้พระอนุตตระสัมมาสัมโพธิญาณ

สถานที่แสดงปฐมเทศนา

สถานที่เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน

ในตำนานอุรังคนิพาน ได้กล่าวถึงการสร้างพระธาตุพนมในยุคแรก (ราว พ.ศ.8) ว่าพระมหากัสสปเถระซึ่งเป็นพุทธสาวกองค์สำคัญพร้อมพระอรหันต์ 500 นำพระอุรังคธาตุจากประเทศอินเดีย แล้วร่วมกับเจ้าพญาทั้ง 5 นคร คือ

พญาสุวรรณภิงคาร ผู้ครองเมืองหนองหานหลวง

พญาคำแดง ผู้ครองเมืองหนองหานน้อย

พญาจุลณีพรหมทัต ผู้ครองแคว้น 12 จุไทย

พญาอินทปฐนคร ผู้ครองแคว้น เขมรโบราณ

พญานันทเสน ผู้ครองอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ (โคตบูร)

พระมหากัสสปเถระได้ พญาทั้ง 5 นคร ก่อสร้างองค์พระธาตุพนมที่ ดอยกปณคีรี หรือภูกำพร้า อยู่ในอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ เมื่อสร้างพระธาตุพนมเสร็จ พระมหากัสสปเถระ พระอรหันต์ แล้วเจ้าพญาเสด็จกลับไปแล้ว พระอินทร์และเหล่าเทพยดาทั้งปวงก็เสด็จมาฉลองพระธาตุ เป็นการใหญ่ นับเป็นงานพระธาตุครั้งแรก

พ.ศ.200 ในยุคของพญาสุมิตตธรรมวงศา ผู้ครองเมืองมรุกนคร และอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ องค์ต่อมาได้ร่วมกับพระอรหันต์ทั้ง 5 คือ พระมหารัตนเถระ พระรัตนะเถระ พระมหาสุวรรณปราสาทเถระ พระจุลสุวรรณปราสาทเถระและพระสังขวิชาเถระ ได้ร่วมกันบูรณะองค์พระธาตุพนม ให้สูงขึ้นราว 24 เมตร หลังจากบูรณะปฏิสังขรณ์อย่างมโหฬาร และพระองค์ ได้ถวายทรัพย์สินมีค่ามากมายบูชาพระธาตุ แล้วยังได้มอบหมายให้หมู่บ้านทั้ง 8 แห่ง ในเขตแดนนั้น ซึ่งมีจำนวนมากถึง 3,000 คน เป็นผู้ดูแล รักษาพระธาตุโดยไมต้องเสียส่วยสาอากรซึ่งเรียกว่า “ข้าโอกาสพระธาตุพนม” จากนั้นมา ก็เข้าใจว่าคงจะมีงานพระธาตุเรื่อยมา

พ.ศ. 2233 – 2263 เจ้าราชครูหลวงโพนสเม็ก พระเถระชาวเวียงจันทน์ ได้นำครอบครัวชาวเวียงจันทน์ ประมาณ 3,000 ครอบครัว ล่องเรือมาตามแม่น้ำโขง และท่านได้เป็นผู้นำในการบูรณะองค์พระธาตุพนมครั้งใหญ่ โดยเสริมยอดพระธาตถพนมให้สูงขึ้นเป็น 47 เมตร ใช้เวลาในการบูรณะ ตั้งแต่ พ.ศ. 2236 – 2245 รวม 9 ปี เมื่อบูรณะเสร็จแล้วท่านได้นำครอบครัวเหล่านั้นไปอยู่ที่นครจำปาศักดิ์ จนกระทั้งมรณภาพ

ในปี พ.ศ. 2263 รวมอายุ 90 ปี ในหนังสือประวัติเจ้าราชครูหลวงโพนสเม็ก ซึ่งเรียบเรียงโดย พระมหาแก้ว ถนโตภาโส เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2482 หน้าที่ 25 มีข้อความตอนหนึ่งว่า “อย่าน้อยท่านคงไปมาระหว่างจำปาศักดิ์กับธาตุพนม ปีละครั้งในงานนมัสการเป็นกิจวัตร” แสดงให้เห็นว่างานนมัสการพระธาตุพนมประจำปีมีขึ้นก่อน ยุคนั้นมาแล้ว

พ.ศ. 2444 ท่านพระครูอุดรพิทักษ์ฯ (บุญรอด สมจิตร) ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูวิโรจน์รัตนมล ครองเมืองอุบลราชธานี ในปี พ.ศ. 2446 ท่านได้เดินทางมาพร้อมคณะ โดยทางเกวียนถึงวัดพระธาตุพนม และเริ่มลงมือบูรณะพระธาตุพนม เมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือนอ้าย ปี พ.ศ. 2444 ท่านพระครูใช้เวลาบูรณะองค์พระธาตุพนมประมาณ 2 เดือน จึงสำเร็จบริบูรณ์ ได้ทำการฉลอง ณ วันพุธ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 3 จนถึงวันเพ็ญปีนั้นซึ่งเป็นวันมาฆบูชา ในหนังสืออุรังคนิทาน ซึ่งเรียบเรียงโดยพระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม หน้า 148 กล่าวว่า

ในงานฉลอง สมโภชมาฆบูชาครั้งนั้น เล่ากันว่า มีประชาชนและพระภิกษุสามเณรจากหัวเมืองต่างๆ ร่วมประชุมหลายหมื่น จนที่พักพาอาศัยแออัดยัดเยียด เป็นมโหฬารยิ่งงานหนึ่งในสมัยนั้น แต่เป็นที่น่าสลดใจอยู่บ้าง ในงานนั้นการรักษาความสะอาดไม่เพียงพอ จึงเกิดอหิวาตกโรค ขึ้นแทรกซ้อนในบั้นปลายของงานจึงทำให้ประชาชนเสียชีวิตไปบ้าง แต่ก็พากันรีบกลับบ้านเมืองของตน

*******************************

  • พญานาค เป็นสัตว์มหัศจรรย์ ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถแปลงกายได้ พญานาค มีอิทธิฤทธิ์ และมีชีวิตใกล้กับคน พญานาค สามารถแปลงเป็นคนได้ เช่นคราวที่แปลงเป็นคนมาขอบวชกับพระพุทธเจ้า ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวถึงนาคที่ชื่อ ถลชะ ที่แปลว่า เกิดบนบก จะเนรมิตกายได้เฉพาะบนบก และนาคชื่อ ชลซะ แปลว่า เกิดจากน้ำ จะเนรมิตกายได้เฉพาะในน้ำเท่านั้น
  • พญานาค ถึงแม้จะเนรมิตกายเป็นอะไร แต่ในสภาวะ 5 อย่างนี้ จะต้องปรากฎเป็นงูใหญ่เช่นเดิม คือ ขณะเกิด ขณะลอกคราบ ขณะสมสู่กันระหว่างนาคกับนาค ขณะนอนหลับ โดยไม่มีสติ และที่สำคัญ ตอนตาย ก็กลับเป็นงูใหญ่เหมือนเดิม
  • .พญานาค มีพิษร้าย สามารถทำอันตรายผู้อื่นได้ด้วยพิษ ถึง 64 ชนิด ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า สัตว์จำพวกงู แมงป่อง ตะขาบ คางคก มด ฯลฯ มีพิษได้ ซึ่งก็ด้วยเหตุที่ นาคคายพิษทิ้งไว้ แล้วพวกงูไปเลีย พวกที่มาถึงก่อนก็เอาไปมาก พวกมาทีหลัง เช่น แมงป่อง กับ มด ได้พิษน้อย แค่เอาหาง เอากันไปป้ายเศษพิษ จำพวกนี้จึงมีพิษน้อย และพญานาคต้องคายพิษทุก 15 วัน
  • พญานาค อาศัยอยู่ใต้ดิน หรือบาดาล คนโบราณเชื่อว่าเมื่อบนสวรรค์มีเทพเทวาอาศัยอยู่ลึกลงไปใต้พื้นโลก ก็น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวว่า ที่ที่นาคอยู่นั้นลึกลงไปใต้ดิน 1 โยชน์ หรือ 16 กิโลเมตร มีปราสาทราชวังที่วิจิตรพิสดารไม่แพ้สวรรค์ ที่มีอยู่ถึง 7 ชั้น เรียงซ้อน ๆ กัน ชั้นสูง ๆ ก็จะมีความสุขเหมือนสวรรค์
  • พญานาค สามารถผสมพันธุ์กับสัตว์ชนิดอื่นได้ แปลงกายแล้วผสมพันธุ์กับมนุษย์ได้ เมื่อนาคตั้งท้องจะออกลูกเป็นไข่เหมือนงู มีทั้งพันธุ์เศียรเดียว 3, 5 และ 7 เศียร สามารถขึ้นลง ตั้งแต่ใต้บาดาลพื้นโลก จนถึงสวรรค์ ในทุกตำนานมักจะกล่าวถึงนาคที่ขั้น-ลง ระหว่างเมืองบาดาล กับเมืองสวรรค์ ที่จะแปลงกายเป็นอะไรตามที่คิด ตามสภาวะเหตุการณ์นั้น ๆ

              จะเห็นว่า พญานาค หรือ งูใหญ่ นั้นมีความเป็นมาและถิ่นที่อยู่เป็นสัดส่วนในภพหนึ่งต่างหาก จะมีเป็นบางครั้งที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ พญานาค เป็นทั้งเอกลักษณ์ของความดี และความไม่ดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น